❤️❤️รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความจงรักภัคดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยดำเนินการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตราสัญลักษณ์ฯและประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตามความเหมาะสมตลอดปี 2567❤️❤️ ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ติดต่อบริจาคได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก โทร.053-936000 และ 053-938400 😊สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคเหนือ (NBT  North) ขอเชิญรับชมรายการโทรทัศน์ของ NBT  North ได้ทางระบบดิจิตอล ช่อง 11 หรือทางสื่อออนไลน์ Facebook : NBT North😊👉(เพิ่มเติม คลิก)👈 
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมาของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในภาคเหนือ NBTNORTH

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในส่วนภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2502 ในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยความคิดที่ว่าในส่วนภูมิภาคของประเทศ ที่อยู่ห่างไกลจากส่วนกลาง รัฐบาลยังขาดเครื่องมือสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแพร่ขยายขอบเขตมากขึ้น รัฐบาลสมัยนั้นจึงแก้ไขปัญหา โดยตั้งหน่วยงานในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ระดับกองขึ้นใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตในภาคเหนือ ตั้งที่จังหวัดลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภาคในขณะนั้น และพร้อมกันนี้ก็ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปาง โดยใช้อาคารเดียวกันกับศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2503 และสามารถทดลองออกอากาศได้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2505

การออกอากาศในช่วงแรก เป็นการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ขาวดำ ด้วยกำลังเครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์ ต่อมาได้ขยายพื้นที่การออกอากาศด้วยระบบ Repeater ไปที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก และขยายพื้นที่ครอบคลุมการออกอากาศจนเกือบทั่วทั้งภาคเหนือในเวลาต่อมา ด้วยจำนวนสถานี ดังนี้

- ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านปงเตา อำเภองาว จังหวัดลำปาง

- ม่อนจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

- ดอยโตน บ้านนาบ้านไร่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

- อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

- ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง

- ดอยปางป๋วย อ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง

- ดอยเด่นชัย จังหวัดแพร่

- ดงมะดะ จังหวัดเชียงราย

- อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

- อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

- ม่อนเขาแก้ว อาเภอเมือง จังหวัดน่าน

- อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

และสุดท้ายของเครื่องส่งในระบบ Repeater ที่บ้านประดาง อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เสร็จสิ้นโครงการพัฒนาเมื่อปี 2521 โดยทุกสถานีจะมีกำลังส่งประมาณ 100 วัตต์จนถึงประมาณ 400 วัตต์

การปรับปรุงระบบจากขาวดำ 525 เส้นสู่ระบบ สี 625 เส้น

จากเริ่มทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรกของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปาง ทางช่อง 8 ด้วยระบบ 525 เส้น ขาวดำเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2505 จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาระบบการออกอากาศมาโดยตลอด  จากระบบ Repeater ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ความถี่จำนวนมาก เนื่องจากระบบดังกล่าวจะใช้เครื่องส่งขนาดเล็ก ขยายสัญญาณจากสถานีหนึ่งสู่สถานีหนึ่ง ทำให้ความชัดเจนลดลง แม้ว่าทางสถานีจะขยายพื้นที่การออกอากาศได้มากพอสมควร แต่คุณภาพยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ชมเท่าใดนัก    จึงได้มีการปรับระบบการถ่ายทอดบางสถานีเป็นระบบไมโครเวฟขององค์การโทรศัพท์ เช่นที่สถานีเครื่องส่งจังหวัดเชียงใหม่ สถานีเครื่องส่งจังหวัดลำปาง สถานีเครื่องส่งเด่นชัย ทำให้คุณภาพการออกอากาศดีขึ้น ส่วนเครื่องส่งก็หันมาใช้เครื่องที่มีกำลังออกอากาศที่สูงขึ้น จนสามารถปรับระบบการออกอากาศเป็น ระบบ สี 625 เส้น สมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2525 และสุดท้ายได้ปรับระบบทั้งหมดด้วยการถ่ายทอดทางดาวเทียม จากระบบ Analog จนเป็นระบบ Digital ตั้งแต่  ปี 2543 จนถึงปัจจุบันนี้ โดยทุกสถานีเครื่องส่งสามารถรับสัญญาณจากห้องส่งจังหวัดเชียงใหม่ทางดาวเทียมได้ทุกสถานี


 การย้ายจากจังหวัดลำปางสู่จังหวัดเชียงใหม่

เนื่องจากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ต้องการพัฒนางานข่าวให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ข่าวเชียงใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 โดยมีห้องส่งและอุปกรณ์การตัดต่อข่าวพร้อมมูลโดยใช้เงินรายได้สร้างอาคารบริเวณตรงข้ามสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 ล้านบาท และจัดซื้ออุปกรณ์การผลิตรายการข่าว เครื่องส่งดาวเทียมพร้อมจานดาวเทียมขนาดใหญ่   ด้วยเงินงบประมาณจำนวน 29 ล้านบาท ในแต่ละวันจะต้องบันทึกเทปแล้วส่งสัญญาณทางดาวเทียมไปยัง    สถานีแม่ที่จังหวัดลำปางเพื่อนำออกอากาศให้ประชาชนได้รับชมทั่วภาคเหนือ ต่อมาทางรัฐบาลต้องการพัฒนาคุณภาพการออกอากาศ และการผลิตรายการให้สนองความต้องการรับรู้ข่าวสารของประชาชนได้กว้างขวาง    มากยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำโครงการสร้างศูนย์วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ ที่จังหวัดขอนแก่น สุราษฏร์ธานี และที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ระหว่างดำเนินการประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้โครงการบางส่วนต้องลดขนาดลง เดิมตามโครงการศูนย์ทั้ง 3 แห่งจะต้องใช้อุปกรณ์ใหม่ด้วยระบบ Digital ทั้งหมด เมื่อมีปัญหาต้องย้ายอุปกรณ์จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปางมาใช้งาน โดยได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ในพื้นที่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงบประมาณ 139 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2540 และแล้วเสร็จเมื่อปี 2543 โดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 และทุกหน่วยงานของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปางได้ย้ายตามมา และสามารถออกอากาศได้อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543

 

สถานีเครื่องส่งในความรับผิดชอบ ของ สทท.เชียงใหม่

1.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์

พื้นที่รับชม ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน

2.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ที่ดอยบ้านไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์

พื้นที่รับชม จังหวัดแพร่และบางส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์

3.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่ดอยนางปุ๊ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ พื้นที่รับชมได้แก่   อ.เมือง อ.ขุนยวม และรับชมได้บางส่วน อ.ปาย อ.ปางมะผ้า อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

4.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ที่ดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงราย กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ พื้นที่รับชมได้แก่ จ.เชียงรายและจังหวัดพะเยา

5.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ที่ดอยเขาแก้ว อ.เมือง จ.น่าน กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ พื้นที่รับชมได้แก่จังหวัดน่าน

6.สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์จังหวัดแม่สะเรียง ตั้งอยู่ที่ดอยช้าง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กำลังส่ง 500 วัตต์ พื้นที่รับชม ได้แก่ เขตอำเภอแม่สะเรียง

7.สถานีเครื่องส่งจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ที่ดอยพระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ พื้นที่รับชมได้แก่จังหวัดลำปาง

และในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2545 กรมประชาสัมพันธ์ก็ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสมัย พ.ต.อ. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนัก-นายกรัฐมนตรีก็ได้จัดงบปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องส่งโทรทัศน์ครั้งใหญ่ ในส่วนของสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 3 ได้จัดตั้งสถานีเครื่องส่งเพิ่มเติมอีก 2 แห่งได้แก่ แห่งแรกที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตั้งบริเวณเดียวกับเครื่องส่งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอำเภอฝาง ออกอากาศด้วยระบบ UHF กำลังส่ง 100 วัตต์ แห่งที่ 2 ได้แก่ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ด้วยเครื่องส่งระบบและขนาดเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่การรับชม       มีมากขึ้น

วันที่ 1 เมษายน 2551 ได้เปลี่ยนโลโก้จาก ช่อง 11 เป็น NBT

วันที่ 1 เมษายน 2552 ได้เปลี่ยนโลโก้จาก   NBT   เป็น สัญลักษณ์หอยสังข์

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่  ระบบดาวเทียม

          ด้วย กรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการผลิตรายการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามนโยบายของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์ในระบบดาวเทียม รับผิดชอบยุทธศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม  โดยส่งเสริมการทำนุบำรุง และรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต และการสืบทอดศาสนาโดยนำหลักธรรมของศาสนาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในสังคม  เปิดสถานีฯ เวลา 05.00 น. ปิดสถานี เวลา 24.00 น.

รายการโทรทัศน์ที่นำเสนอนั้น มีเนื้อหาเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์กรมประชาสัมพันธ์และยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน รายการท้องถิ่นเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเครือข่ายภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีการรับสัญญาณรายการข่าวต้นชั่วโมง ข่าวภาคบังคับ การถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ตลอดจนรายการพิเศษต่างๆ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  โดยท่านสามารถรับชมรายการจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ระบบดาวเทียม โดยติดตั้งจานดาวเทียมแบบ    C - Band ไทยคม 6 ความถี่ 4169  MHz  Symbol Rate  14400 Polawize H    โดยมี โลโก้ PRD 3  LOCAL.TV. เป็นสัญลักษณ์ของสถานี.

 

ความเป็นมาของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ทีวีดิจิทัลภูมิภาค ระบบภาคพื้นดิน

 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สทท.ภูมิภาค สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 -  8 กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันมีจำนวนรวม 11 สถานี ประกอบด้วย

1.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ขอนแก่น

2.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) อุบลราชธานี

3.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เชียงใหม่

4.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พิษณุโลก

5.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สุราษฎร์ธานี

6.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ภูเก็ต

7.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) นครศรีธรรมราช

8.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)  สงขลา

9.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยะลา

10.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) จันทบุรี

11.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กาญจนบุรี

จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสื่อสารทำให้เกิดการแข่งขันในการผลิตสื่อและพฤติกรรมการรับสื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ภูมิภาคต้องมีขอบเขตภารกิจที่มากยิ่งขึ้น  ปรับปรุงการให้บริการที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบรายการและข่าว เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ภูมิภาคได้หยุดออกอากาศในระบบ analog   ทำให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐได้น้อยลง  ทั้งนี้   ในปี 2561 กรมประชาสัมพันธ์ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบโครงข่ายระบบดิจิตอล ๑๖๘ สถานีครบทั่วประเทศแล้ว และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้คลื่นความถี่สำหรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลระดับภูมิภาค (Regional Content) โดยออกอากาศทางระบบดิจิตอล ช่อง 11  ตลอดจนกรมประชาสัมพันธ์ได้พิจารณาให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคบูรณาการการทำงาน โดยแยกเป็นภาค จำนวน   4 สถานี คือ 

1.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคเหนือ  (NBT NORTH)

2.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   (NBT NORTHEAST)

3. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคกลาง (NBT CENTRAL)

4.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคใต้  (NBT SOUTH)

เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ คือ กลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสารของกรมประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ประกอบกับกรมประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ,แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 , แนวทางการพัฒนาประเทศตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน, นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 - 2564), แผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เรื่องการปฏิรูปสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในภูมิภาค เพื่อยกระดับการสื่อสารของรัฐ ประชาชนและสาธารณประโยชน์ โดยให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ภูมิภาค เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะดิจิทัลประเภทท้องถิ่น 4 ภาค ตามกรอบของกฎหมายเพื่อให้การดำเนินงานของกรมประชาสัมพันธ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นที่ยอมรับในเรื่องการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และครอบคลุมทุกประเด็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ออกอากาศวันละ 15 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00 - 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยภาคเหนือ NBT North ระบบ Digital ภาคพื้นดินช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ มีภารกิจหลักในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน เสริมสร้างการรับรู้และเข้าใจเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารนโยบายรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติเชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน 20 กระทรวงและยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ
โดยความร่วมมือและการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ของ NBTเชียงใหม่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ NBT พิษณุโลก สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 โดยทำการแพร่ออกอากาศกลุ่มพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วภาคเหนือให้เข้าถึงผู้ชมมากกว่า 12 ล้านคน NBT ภาคเหนือ ออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06:00 - 21:00 น. รวม 15 ชั่วโมงต่อวัน ครบครันด้วยเนื้อหาสาระที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมชาวเหนือ ทั้งข่าวสารสารประโยชน์และสาระบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ เน้นการมีส่วนร่วมการผลิตรายการโทรทัศน์ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาชนตามแนวทางประชารัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเหนือ

          ข่าวเด่นรายการดัง NBT ภาคเหนือ รายการข่าวสาร รายการส่งเสริมการศึกษาจริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม รายการสาระความรู้ สร้างความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รายการเด็กและเยาวชน รายการท้องถิ่นและสุขภาพ รายการสาระบันเทิง รายการท่องเที่ยวและรายการเพื่อคนพิการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยภาคเหนือ NBT North สื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์รายการและข่าว เพื่อให้ประชาชนภาคเหนือได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนด้วยรายการโทรทัศน์ที่ใกล้ชิดระดับภูมิภาค ส่งเสริมสาระความรู้ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น สร้างพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่เข้มแข็งเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สโลแกน

“ช่อง 11  NBT สร้างคุณภาพชีวิต ใกล้ชิดประชาชน”


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ข่าวรอบเมืองเหนือ...
ข่าวประชาสัมพันธ์...